แหวะนมแบบไหนปกติ แบบไหนอันตราย เรื่องลูกแหวะนมแม่ต้องรู้ !!!
เด็กแหวะนมปกติหรือไม่ ?
อาการแหวะนม ของเด็ก มีทั้งปกติและไม่ปกติ พบได้บ่อยในเด็กแรกเกิด – 6 เดือน เนื่องจากการทำงานของหูรูดกระเพาะอาหารยังไม่สมบูรณ์ หลังดูดนมอิ่มแล้ว จึงทำให้น้ำนมดันขึ้นมาจากกระเพาะอาหารและแหวะออกมาทางปาก บางครั้งออกทั้งทางปากและจมูก แต่ในเด็กบางคนแหวะนมบ่อยจนน้ำหนักตัวลดลงอาจเกิดจากโรคบางอย่างและส่งผลต่อการเจริญเติบโตของลูกได้ เพราะฉะนั้น คุณแม่ต้องมีความรู้เรื่องการเเหวะนม ดังนี้
4 อาการแหวะนมที่พบบ่อยในเด็ก
1. ลูกมีอาการแหวะนม หลังดูดนมทุกมื้อ
สาเหตุ เกิดจากกล้ามเนื้อหูรูดกระเพาะหย่อน
วิธีการป้องกันแก้ไข หลังลูกดูดนม อย่างเพิ่งให้ลูกนอนราบ แนะนำให้อุ้มลูกในท่าศีรษะลูงนานมากกว่า 30 นาทีขึ้นไป เพื่อให้น้ำนมได้ผ่านการย่อยบางส่วนไปบ้างแล้ว ค่อยให้ลูกนอนลง หากยังแหวะอยู่ ให้ลูกนอนในท่าศีรษะสูงโดยใช้ผ้าขนหนูพับ 2-3 พับ หนุนตั้งแต่ไหล่ขึ้นไป เมื่อลูกหลับสนิทค่อยๆ เอาผ้าออก หากไม่ดีขึ้น แนะนำให้พบแพทย์ เพื่อรับยาปรับกระเพาะอาหารให้มีการบีบตัวมากขึ้นเพื่อส่งน้ำนมลงสู่ลำไส้เล็กได้ดี อาการดังกล่าวจะหายไป
2.ลูกแหวะนมพร้อมกับอาการเรอ และผายลมด้วย
สาเหตุ เกิดจากขณะดูดนมลูกกลืนลมลมเข้าไปด้วย จึงทำให้มีอาการท้องอืด
วิธีการป้องกันแก้ไข ปรับปรุงเรื่องการให้นมลูกเป็นการด่วน หากให้หนูกินนมจากขวด อย่าหมุนปิดฝาจุกนมแน่นเกินไป ต้องให้มีฟองอากาศไหลเข้าขวดนมได้สะดวกตอนหนูดูด อย่าให้จุกนมแฟบ ถ้าแฟบจะทำให้หนูดูดน้ำนมจากขวดไม่ออก ซึ่งทำให้หนูดูดแต่ลมเข้าท้อง และหลังกินนมลูบหลังให้ได้เรอนมออกมา
3. ลูกอาเจียนเป็นของเหลวสีขาว (นมย่อย) หลังอาเจียน มีอาการหิวนมอีก
สาเหตุ เกิดจากกระเพาะอาหารส่วนไพโรรัสมีการอุดกั้น
วิธีป้องกันแก้ไข ให้คุณแม่นับจำนวนครั้งและสังเกตอาการขณะลูกอาเจียน หากลูกมีอาเจียนบ่อยทุกวันติดต่อกันมากกว่า 1 สัปดาห์ คาดเดาได้ว่าลูกของคุณแม่อาจมีความผิดปกติเกี่ยวกับ ก้อนในท้อง หรือเนื้องอกต่างๆ ในระบบทางเดินอาหารได้ แนะนำให้พบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยอย่างละเอียด
4. ลูกแหวะนมบ่อยครั้งร่วมกับน้ำหนักตัวลดลงเรื่อยๆ
สาเหตุ เกิดจากความผิดปกติของระบบทางเดินอาหาร
วิธีป้องกันแก้ไข ปรับปรุงมื้อนมใหม่ควรให้กินนมเพียงครึ่งเดียวก่อน จับให้เรอ แล้วให้กินต่อจนหมด จึงจับให้เรออีกครั้ง พยายามจัดท่าให้หลังของลูกตรงโดยใช้แขนวางทาบแผ่นหลังประคองให้หลังตรง เพราะถ้าหลังงอ หน้าอกจะก้มลงมาด้านหน้า เพิ่มความดันในช่องท้อง กระเพาะอาหารจะถูกกด ทำให้แหวะหรืออาเจียนได้ง่าย นอกจากนั้นการให้นมมากเกินไปในแต่ละมื้อ ลูกก็แหวะได้เช่นกัน คุณแม่ต้องพยายามให้นมให้ถูกวิธี ตรวจปริมาณนมต่อมื้อให้เหมาะสมตามวัย คือ 3 – 4 ออนซ์ ต่อมื้อให้ทุก 3 – 4 ชั่วโมง หากยังแหวะอยู่บ้างให้ดูที่ตัวลูกเป็นสำคัญ หากน้ำหนักดีขึ้น แจ่มใส ร่าเริง นับว่า เป็นปกติ แต่ถ้าแหวะบ่อย น้ำหนักไม่ขึ้นควรปรึกษากุมารแพทย์ค่ะ
คุณแม่ที่กำลังเจอปัญหานี้อยู่ คงเข้าใจมากขึ้น แต่หากคุณแม่ท่านไหนไม่มั่นใจในอาการของลูกเกี่ยวกับการแหวะนม และอาเจียนแนะนำให้ปรึกษากุมารแพทย์ เป็นการด่วนนะคะ เพื่อรับการตรวจวินิจฉัยอย่างทันท่วงที “เพราะลูกคือคนพิเศษรอช้าไม่ได้ค่ะ” ที่มา : mamaexpert
การดูแลเด็กอ่อน
หลังกินนมเสร็จ ควรอุ้มเรอ ไม่ควรกินแต่ละมื้อมากหรือเร็วเกินไป และเวลานอนให้ยกศีรษะสูง 10 องศา หรือหากลูกกินเสร็จใหม่ ๆ ไม่ควรรีบพาไปนอน
เราเชื่อว่าการป้องกัน ดีกว่าการรักษา
หมอนลดการแหวะนม ป้องกันกรดไหลย้อนในทารก
หมอนยอดนิยมจากญี่ปุ่น รุ่น 3D Sleeping pillow สนใจหมอน คลิก
ภาวะไหลย้อนจากกระเพาะสู่หลอดอาหารในเด็ก (Gastroesophageal reflux)
- เป็นภาวะที่น้ำย่อย หรืออาหารจากกระเพาะอาหารไหลย้อนกลับขึ้นไปในหลอดอาหาร คนทั่วไปอาจรู้จักภาวะนี้ในชื่อว่า หูรูดหลอดอาหารไม่แข็งแรงพบได้ทั้งในเด็กทารก ทำให้มีอาการสำรอก (แหวะนม) หรืออาเจียนหลังกินนม
- ทารกในช่วง 6 เดือนแรกจะเกิดภาวะนี้ได้บ่อยหากไม่มีภาวะแทรกซ้อนแต่อย่างใด ก็ไม่ถือว่าเป็นโรค และสามารถหายได้เองในช่วงอายุขวบปีแรก แต่หากมีภาวะแทรกซ้อน หรือทำให้มีอาการต่างๆ เรียกว่าโรคไหลย้อนจากกระเพาะสู่หลอดอาหาร (Gastroesophageal reflux disease – GERD)
ภาวะแทรกซ้อนของภาวะไหลย้อนจากกระเพาะสู่หลอดอาหาร
- น้ำหนักตัวขึ้นช้า หรือน้ำหนักลด
- ทำให้เกิดหลอดอาหารอักเสบ หรือ หลอดอาหารเป็นแผล ซึ่งทำให้
– ทารกร้องกวนผิดปกติ
– ปฏิเสธนม หรืออาหาร
– เลือดออกที่หลอดอาหาร ทำให้ถ่ายดำหรืออาเจียนเป็นเลือด
– โลหิตจาง - ภาวะแทรกซ้อนทางเดินหายใจ เช่น
– ปวดบวมซ้ำซาก
– ไอเรื้อรัง
– หอบหืด
– เสียแหบ ฯลฯ - หากเป็นรุนแรงและเป็นเวลานาน อาจทำให้หลอดอาหารส่วนปลายตีบได้ หรือเซลล์เยื่อบุหลอดอาหารเกิดการเปลี่ยนแปลงได้
ทราบได้อย่างไรว่าเป็นภาวะไหลย้อนจากกระเพาะสู่หลอดอาหาร
- สำรอก (แหวะนม) หรืออาเจียนหลังกินนม
- อาการของภาวะแทรกซ้อนดังกล่าว เช่น น้ำหนักขึ้นช้า ปฎิเสธนม ร้องกวนผิดปกติ ไอเรื้อรัง ฯลฯ
ภาวะนี้เกิดขึ้นได้อย่างไร
- เกิดจากหูรูดระหว่างหลอดอาหารและกระเพาะอาหารทำงานไม่ปกติ
- ทารกปกติในช่วงเดือนแรกๆ หูรูดดังกล่าวยังทำงานไม่สมบูรณ์จึงเกิดภาวะนี้ได้บ่อย
- นอกจากนี้ความผิดปกติในการทำงานของหูรูดอาจเกิดจากยาบางชนิด เครื่องดื่มแอลกอฮอล์และคาเฟอีน ฯลฯ
วินิจฉัยอย่างไร
- วินิจฉัยจากอาการสำคัญที่กล่าวมาแล้ว หากอาการไม่ชัดเจน หรือได้รับการรักษาเบื้องต้นแล้วอาการไม่ดีขึ้น อาจต้องตรวจพิเศษเพิ่มเติม เช่น การส่องกล้องทางเดินอาหาร การเอ็กซเรย์กลืนสารทึบแสง การตรวจวัดความเป็นกรด-ด่างในหลอดอาหาร การตรวจทางเวชศาสตร์นิวเคลียร์ เป็นต้น
- พึงระลึกไว้เสมอว่า ทารกที่มีอาเจียนไม่จำเป็นต้องเป็นภาวะไหลย้อนจากกระเพาะอาหารสู่หลอดอาหารเสมอไป อาจมีสาเหตุอื่นๆ เช่น ภาวะอุดกั้นในทางเดินอาหาร ความผิดปกติในสมองหรือเป็นอาการของทารกที่แพ้นมวัวก็ได้ ฯลฯ หากไม่แน่ใจควรปรึกษาแพทย์เพื่อการวินิจฉัยที่ถูกต้อง
จะให้รักษาอย่างไร
- การรักษาขึ้นกับอาการ และอายุของเด็ก ในเด็กทารกหากมีเพียงสำรอก (แหวะนม) หรืออาเจียนเป็นครั้งคราว โดยไม่มีอาการของภาวะแทรกซ้อน ส่วนใหญ่ไม่จำเป็นต้องรักษา หรืออาจจะต้องการเพียงการรักษาเบื้องต้น
การปฏิบัติเบื้องต้นสำหรับทารก
- ในเด็กทารก ควรทำให้เรอหลังจากกินนม 1-2 ออนซ์ ก่อนจะกินนมต่อ หากทารกกินนมแม่ควรทำให้เรอหลังดูดนมแม่เสร็จ 1 ข้าง
- ควรอุ้มประคองทารกในขณะกินนมให้ศรีษะสูงเล็กน้อย และจับขวดนมให้ลูกในท่าที่ป้องกันทารกดูดอากาศเข้าไปในกระเพาะ
- ไม่ควรให้กินนมมากเกินไปในแต่ละมื้อ แต่ใช้วิธีเพิ่มจำนวนมื้อให้ถี่ขึ้นแทน
- หลังกินนมและจับเรอแล้ว อย่าให้ทารกนอนทันที ควรอุ้มทารกไว้ประมาณ 30 นาที ในท่าตั้งและศรีษะสูง
เมื่อปฏิบัติตัวเบื้องต้นแล้วไม่ดีขึ้นควรรักษาอย่างไร
ควรจะปรึกษาแพทย์ แพทย์จะพิจารณาว่าจะให้การรักษาด้วยยาชนิดใด โดยทั่วไปยาที่ใช้รักษาโรคไหลย้อนกลับจากกระเพาะสู่หลอดอาหารมี 2 ประเภท
- ประเภทแรก คือ ยายับยั้งการหลั่งกรดช่วยรักษาหลอดอาหารอักเสบ และแผลที่หลอดอาหาร
- ประเภทที่สอง คือ ยาเพิ่มการบีบตัวของหลอดอาหารและกระเพาะอาหาร เนื่องจากยาบางชนิดในกลุ่มนี้อาจมีผลข้างเคียงได้ จึงควรได้รับการดูแลรักษาจากแพทย์โดยใกล้ชิด
มีทารกและเด็กส่วนน้อยที่มีอาการรุนแรง ไม่ตอบสนองต่อการรักษาด้วยยาดังกล่าว หรือมีภาวะแทรกซ้อนรุนแรง แพทย์อาจจะพิจารณาทำการผ่าตัดบริเวณหูรูด
การดำเนินโรคเป็นอย่างไร
ในทารกภาวะไหลย้อนจากกระเพาะสู่หลอดอาหาร โดยส่วนใหญ่จะหายเองได้ในขวบปีแรก
ควรปรึกษาแพทย์เสมอ หากบุตรของท่านมีอาการดังต่อไปนี้
- อาเจียนมีสีเขียว (น้ำดี) ปน
- อาเจียนพุ่ง
- น้ำหนักขึ้นช้า หรือน้ำหนักลด
- กลืนแล้วเจ็บหรือกลืนลำบาก
- ปฏิเสธนม หรืออาหาร
- ร้องกวนมากผิดสังเกต
- มีอาการของระบบทางเดินหายใจร่วมด้วย
- มีอาการทางระบบประสาทร่วมด้วย เช่น ปวดศรีษะ เดินเซ
ที่มา : ศูนย์กุมารเวชกรุงเทพ